1. ความเป็นมา

“งานประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมพระจอมเกล้าพระนครเหนือ” หรือ KMUTNB Innovation Awards ได้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้บุคลากรและนักศึกษาของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ที่มีความสนใจงานวิจัยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้แสดงความรู้ความสามารถในการวิจัย เพื่อสร้างสรรค์ผลงานสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม ที่นำมาซึ่งความเข้มแข็งและความเจริญของประเทศไทยอย่างยั่งยืน แสดงเอกลักษณ์ของมหาวิทยาลัยที่ว่า “มจพ. คือมหาวิทยาลัยแห่งการสร้างสรรค์ประดิษฐกรรมสู่นวัตกรรม” โดยแต่เดิมใช้ชื่อว่า “การประกวดรางวัลนวัตกรรมเทคโนโลยี” (ปี พ.ศ. 2552 - 2556) และ “งานประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้า พระนครเหนือ” (ปี พ.ศ. 2557 – 2561) โดยเปลี่ยนมาใช้ชื่อ“งานประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมพระจอมเกล้าพระนครเหนือ” ในปี พ.ศ. 2562 และใช้ชื่อนี้มาจนถึงปัจจุบัน ตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นมา “งานประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมพระจอมเกล้าพระนครเหนือ” ได้เปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมประกวดจากภายนอกมหาวิทยาลัยเข้าร่วมประกวดแข่งขัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เยาวชนและบุคลากรของประเทศได้มีเวทีในการแสดงออกถึงความคิดสร้างสรรค์ และองค์ความรู้ในการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์นวัตกรรม และพัฒนาความรู้ความสามารถด้านนวัตกรรมเพี่อความได้เปรียบในการแข่งขันกับนานาประเทศ รวมถึงสร้างความตระหนักและความตื่นตัวในการเป็นผู้ประกอบการ ตลอดจนการ บ่มเพาะและเร่งการพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ (Innovative startup) สนับสนุนการพัฒนาประเทศไปสู่เศรษฐกิจฐานนวัตกรรม และสังคมฐานความรู้ โดยได้รับพระมหากรุณาธิคุณจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานถ้วยรางวัล Grand Prize สำหรับผู้ชนะเลิศการประกวด มาอย่างต่อเนื่องทุกปี ในปี 2565 การจัดงานบรรลุวัตถุประสงค์โดยมีผู้เข้าร่วมประกวดจากสถาบันการศึกษา หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนจากทั่วประเทศ ส่งผลงานเข้าร่วมประกวดกว่า 200 ผลงาน และมีผู้สนใจเข้าชมผลงาน ผ่านระบบเสมือนจริง (Virtual Exhibition) กว่า 100,000 ครั้ง

2. ประเภทรางวัล

รางวัล Grand Prize จำนวน 1 รางวัล ถ้วยพระราชทานจาก สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี รางวัลสูงสุดของการประกวด พิจารณาจากผลงานที่ชนะเลิศการประกวดทั้ง 2 ประเภท เพื่อเฟ้นหาผลงานที่เหมาะสมที่สุด โดยการประกวดแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้
1) INNOVATIVE IDEAS (ID) คำจำกัดความ - ผลงานมีการแสดงแนวคิดเริ่มต้นโดยการประยุกต์ใช้หลักการพื้นฐานมาสู่การพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ใหม่ โดยอาจยังไม่ได้มีการทดลอง หรือพิสูจน์องค์ประกอบของแนวคิด มีระดับความพร้อมของเทคโนโลยี (TRL) ไม่เกินระดับ 3
  • รางวัลชนะเลิศ จำนวน 1 รางวัล โล่รางวัล เกียรติบัตร และเงินรางวัล จำนวนเงิน 40,000.00 บาท
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 1 รางวัล โล่รางวัล เกียรติบัตร และเงินรางวัล จำนวนเงิน 30,000.00 บาท
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 1 รางวัล โล่รางวัล เกียรติบัตร และเงินรางวัล จำนวนเงิน 20,000.00 บาท
  • รางวัลชมเชย จำนวน 3 รางวัล เกียรติบัตร และเงินรางวัล จำนวนเงิน 5,000.00 บาท
2) INNOVATIVE PRODUCTS (IP) คำจำกัดความ - ผลงานมีการแสดงถึงความพร้อมใช้งาน โดยองค์ประกอบแต่ละส่วนสามารถทำงานร่วมกันได้ มีการทดลองใช้งานพร้อมพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ มีระดับความพร้อมของเทคโนโลยี (TRL) อยู่ในระดับ 4 ขึ้นไป หรือเทียบเท่า
  • รางวัลชนะเลิศ จำนวน 1 รางวัล โล่รางวัล เกียรติบัตร และเงินรางวัล จำนวนเงิน 40,000.00 บาท
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 1 รางวัล โล่รางวัล เกียรติบัตร และเงินรางวัล จำนวนเงิน 30,000.00 บาท
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 จำนวน 1 รางวัล โล่รางวัล เกียรติบัตร และเงินรางวัล จำนวนเงิน 20,000.00 บาท
  • รางวัลชมเชย จำนวน 3 รางวัล เกียรติบัตร และเงินรางวัล จำนวนเงิน 5,000.00 บาท

3. คุณสมบัติและเงื่อนไข

  • เป็นนักเรียน นักศึกษา นักประดิษฐ์ นักวิจัย หรือบุคคลทั่วไป ที่เป็นผู้สร้างสรรค์ผลงานด้วยตนเอง และมีสิทธิตามกฎหมายในการเป็นเจ้าของผลงานนวัตกรรมอย่างแท้จริง

  • ผู้เข้าร่วมประกวดเป็นแบบบุคคลเดียวหรือกลุ่มบุคคลก็ได้ ทั้งนี้ไม่เกิน 5 คนต่อผลงาน

  • ผลงานที่ส่งเข้าประกวดต้องเป็นสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมใหม่ที่ไม่เคยส่งประกวดในรายการนี้มาก่อน หรือมีเนื้อหารายละเอียดที่เปลี่ยนแปลงจากเดิมอย่างน้อย 60% ขึ้นไป
  • จัดทำคลิป VDO นำเสนอผลงาน ความยาวเนื้อหา 2 – 3 นาที (ความยาวตลอดทั้ง VDO ไม่น้อยกว่า 2 นาที แต่ไม่เกิน 3 นาที) บันทึกเป็นไฟล์ .MP4 หรือ .MOV ขนาดไม่เกิน 200 MB
ทั้งนี้ ในบรรดาข้อความ รูปภาพ ภาพวีดีโอ เสียง และเนื้อหาอื่นใดตลอดจนสื่อประเภทอื่นที่ปรากฏใน VDO จะต้องได้รับอนุญาตและ/หรือไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น
  • รับทราบและยินยอมให้ผู้จัดงานเผยแพร่ข้อมูลส่วนบุคคล ประกอบด้วย ชื่อ-สกุล ชื่อหน่วยงาน รวมถึงเนื้อหาผลงาน VDO สื่ออื่น ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาผลงานของท่าน บนเว็บไซต์รวมถึงช่องทางการประชาสัมพันธ์อื่นใดของผู้จัดงาน
  • กรณีผ่านเข้าสู่รอบตัดสิน ต้องมีสมาชิกในทีมอย่างน้อย 1 คน ที่สามารถเข้าร่วมเดินทางเข้าร่วมประกวดและนำเสนอผลงาน ในวันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน 2566 ณ หอประชุมประดู่แดง อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ กรุงเทพมหานคร
  • การพิจารณาตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด
  • ผู้จัดการประกวดขอสงวนสิทธิ์ในการระงับหรือยกเลิกการให้สิทธิหรือรางวัลใด ๆ แก่บุคคลที่กระทำการใด ๆ โดยทุจริต หรือผิดกฎหมาย หรือไม่ดำเนินการตามที่ระบุไว้ในเงื่อนไขในการประกวดนี้

4. ข้อกำหนดการสมัคร

ผู้สนใจสมัครเข้าร่วมประกวดดูรายละเอียดการสมัครและสมัครได้ที่เว็บไซต์งานประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมฯ https://kmutnb-innoawards.com/หรือ QR Code ด้านล่าง ภายในระยะเวลาที่กำหนดกำหนดปิดรับสมัคร วันที่ 18 เมษายน 2566 เวลา 16.00 น.
คำแนะนำ แนวทางการจัดทำคลิป VDO นำเสนอผลงาน ความยาวเนื้อหา 2 - 3 นาที (ความยาวตลอดทั้ง VDO ไม่น้อยกว่า 2 นาที แต่ไม่เกิน 3 นาที) บันทึกเป็นไฟล์ .MP4 หรือ .MOV ขนาดไม่เกิน 200 MB โดยบรรดาข้อความ รูปภาพ ภาพวีดีโอ เสียง และเนื้อหาอื่นใดตลอดจนสื่อประเภทอื่นที่ปรากฏใน VDO จะต้องได้รับอนุญาตและ/หรือไม่ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาของผู้อื่น ควรแสดงให้เห็นถึงเนื้อหารายละเอียดอย่างน้อย ดังนี้
  • ที่มาของแนวคิด
  • ความโดดเด่นของผลงาน/ลักษณะเฉพาะ
  • แสดงต้นแบบผลงาน (ถ้ามี) และวิธีการทำงาน/การใช้งาน
  • ประโยชน์ / ผลกระทบของผลงาน ต่อ อุตสาหกรรม เศรษฐกิจ สังคม
  • อาจกล่าวถึงความร่วมมือ (ถ้ามี) เช่น ร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน บริษัท เป็นต้น

5. กำหนดการรับสมัครและประกาศรางวัล

กิจกรรม วัน/เวลา
เปิดรับสมัครผลงาน7 มีนาคม – 18 เมษายน 2566 (16.00 น.)
ผลงานที่ผ่านรอบคัดเลือกส่ง VDO และ Poster1 - 16 พฤษภาคม 2566
จัดแสดงและประกวดรอบ Virtual Exhibition19 พฤษภาคม 2566 เป็นต้นไป
ประกาศรายชื่อผลงานที่ผ่านเข้าสู่รอบตัดสิน6 มิถุนายน 2566
นำเสนอผลงานรอบตัดสินและมอบรางวัล23 มิถุนายน 2566
หมายเหตุ * นำเสนอผลงาน (รอบตัดสิน) และ พิธีมอบรางวัล กำหนดจัดในวันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน 2566 ณ หอประชุมประดู่แดง อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

6. รูปแบบและหลักเกณฑ์การพิจารณาตัดสิน

รูปแบบการพิจารณาคัดเลือกและตัดสินผลงานจะพิจารณาตามประเภทการประกวดและประเภทของผลงานที่ผู้เข้าประกวดเลือกไว้ในใบสมัครเป็นหลัก โดยมีรายละเอียดดังนี้
ประเภทการประกวดแบ่งเป็น 2 ประเภท ดังนี้
  • 1) INNOVATIVE IDEAS (ID)
    คำจำกัดความ- ผลงานมีการแสดงแนวคิดเริ่มต้นโดยการประยุกต์ใช้หลักการพื้นฐานมาสู่การพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ใหม่ โดยอาจยังไม่ได้มีการทดลอง หรือพิสูจน์องค์ประกอบของแนวคิด มีระดับความพร้อมของเทคโนโลยี (TRL) ไม่เกินระดับ 3
  • 2) INNOVATIVE PRODUCTS (IP)
    คำจำกัดความ - ผลงานมีการแสดงถึงความพร้อมใช้งาน โดยองค์ประกอบแต่ละส่วนสามารถทำงานร่วมกันได้ มีการทดลองใช้งานพร้อมพัฒนาสู่เชิงพาณิชย์ มีระดับความพร้อมของเทคโนโลยี (TRL) อยู่ในระดับ 4 ขึ้นไป หรือเทียบเท่า
ทำความเข้าใจ TRL:

https://www.thailibrary.in.th/2021/10/15/trl

ประเภทของผลงานแบ่งเป็น 5 ประเภท ดังนี้

  • 1. Energy & Environment พลังงานและสิ่งแวดล้อม
  • 2. Food & Agriculture อาหารและการเกษตร
  • 3. Social & Economy สังคมและเศรษฐกิจ
  • 4. Medical Device อุปกรณ์เพื่อการแพทย์
  • 5. Material วัสดุ
การพิจารณาคัดเลือกและตัดสินผลงาน แบ่งเป็น 3 รอบ ดังนี้

รอบคัดเลือก

คัดเลือกผลงานที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนดจากผลงานที่สมัครเข้าร่วมประกวดและตรงตามคุณสมบัติและเงื่อนไขของผู้จัดงาน โดยคณะกรรมการฯ พิจารณาจากรายละเอียดผลงานและคลิป VDO นำเสนอผลงานตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งคลิป VDO ผลงานที่ผ่านรอบคัดเลือกจะได้จัดแสดงในรอบประกวด Virtual Exhibition ซึ่งจะจัดกลุ่มผลงานตามประเภทการประกวดและประเภทของผลงานที่ผู้เข้าประกวดเลือกตามลำดับ

รอบประกวด

Virtual Exhibition คณะกรรมการฯ พิจารณารายละเอียดผลงาน คลิป VDO นำเสนอผลงาน และ Poster ที่จัดแสดงในการประกวดรูปแบบ Virtual Exhibition ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดของการประกวดแต่ละประเภท เพื่อคัดเลือกผลงานที่เหมาะสม จำนวน 6 ผลงาน ต่อประเภทรางวัล (รวม 12 ผลงาน) เข้าสู่รอบตัดสิน

รอบตัดสิน

รอบตัดสิน ผู้เข้ารอบตัดสินจะต้องจัดแสดงผลงาน และนำเสนอผลงาน (Pitching) ต่อคณะกรรมการ ตามวัน เวลา และสถานที่จัดงานตามที่ผู้จัดงานกำหนด โดยจัดเตรียมผลงานและสื่อประกอบได้ตามความเหมาะสม ระยะเวลาการนำเสนอ ไม่เกิน 5 นาที และถาม-ตอบคณะกรรมการ ไม่เกิน 5 นาที รวมไม่เกิน 10 นาที ทั้งนี้ ผู้นำเสนอผลงานจะต้องเป็นผู้ที่มีรายชื่อในฐานะผู้ประดิษฐ์ ที่ระบุไว้ในใบสมัครเข้าร่วมประกวดเท่านั้น
นำเสนอผลงานรอบตัดสิน และ พิธีมอบรางวัล กำหนดจัดขึ้น ในวันศุกร์ที่ 23 มิถุนายน 2566 ณ หอประชุมประดู่แดง อาคารอเนกประสงค์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยผู้จัดงานจะจัดเตรียมพื้นที่สำหรับจัดแสดงผลงาน ให้กับ 12 ผลงาน และเปิดให้ผู้สนใจสามารถเข้าชมผลงานและการประกวดได้ โดยรายละเอียดจะประกาศให้ทราบต่อไป
หลักเกณฑ์การพิจารณาตัดสิน
1. ความคิดริเริ่มและสร้างสรรค์ หมายถึง ผลงานนั้นไม่เคยใช้ที่ไหนมาก่อนหรือในกลุ่มคนนั้นไม่เคยใช้ โดยเกิดจากการคิดใหม่ สร้างสรรค์ใหม่ ที่มาจากการนำของที่มีอยู่มาใช้ การนำเทคโนโลยีหรือแนวคิดมาผสมผสานร่วมกัน การนำหลักการพิจารณาที่ซับซ้อนจนได้ผลดี และการนำสิ่งที่ ไม่คาดคิดมาก่อน นำมาใช้คิด ใช้สร้าง จนสามารถสร้างความประหลาดใจ
2. ความถูกต้องสมบูรณ์ตามหลักวิชาการ หมายถึง ผลงานนั้นสามารถอธิบายการทำงานให้สอดคล้องกับทฤษฎี โดยเป็นทฤษฎีทั้งในระดับพื้นฐาน การนำไปใช้ การวิเคราะห์ตัวแปรหลายตัวด้วยระดับความยาก ในการทำความเข้าใจ การต้องค้นหาข้อมูล และความยากที่ไม่สามารถแก้ปัญหาได้โดยง่าย
3. ความสามารถในการผลิตได้จริง หมายถึง มีแนวทางหรือมีการนำผลงานไปสร้างเป็นต้นแบบ หรือสามารถนำผลงานนั้นไปผลิตจนสามารถใช้งานได้จริง เห็นผลลัพท์ที่ได้จากผลงานนั้นๆในรูปธรรม
4. การนำไปพัฒนาต่อยอดและการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริงในเชิงพาณิชย์ หมายถึง การนำผลงานไปใช้ในกลุ่มเป้าหมายจนทำให้เกิดความพึงพอใจ ได้รับคำแนะนำจากผู้ใช้ ได้ข้อมูลในการนำไปพัฒนาจนถึงขั้นตอนการทำสู่เชิงพาณิชย์ โดยมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมาย กำหนดราคาต้นทุน กำหนดราคาขาย ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นในการนำไปใช้งาน หรือมีความสามารถในการผลิตเป็นจำนวนมาก
5. รูปแบบการนำเสนอผลงานที่สมบูรณ์และน่าสนใจ หมายถึง การนำเสนอผลงานของตนเองให้มีความโดดเด่น สร้างความน่าสนใจ และเข้าใจได้ง่าย หรือสามารถตอบคำถามได้ดีในเวลาที่กำหนด ตลอดรวมถึงความเรียบร้อยสมบูรณ์ของเอกสารนำส่งและผลงานต้นแบบ
6. ความเป็นไปได้ของการจดสิทธิบัตร หมายถึง ผลงานนั้นสามารถนำไปจดสิทธิบัตรได้ตามหลักเกณฑ์ และมีประเด็นสำคัญที่ครบถ้วน
หมายเหตุ * การพิจารณาตัดสินของคณะกรรมการถือเป็นที่สิ้นสุด ** ผู้จัดงานขอสงวนสิทธิ์ในการระงับหรือยกเลิกการให้สิทธิหรือรางวัลใดๆ แก่บุคคลที่กระทำการใดๆ โดยทุจริต หรือผิดกฎหมาย หรือไม่ดำเนินการตามที่ระบุไว้ในเงื่อนไขในการประกวดนี้
7. ข้อมูลติดต่อผู้จัดงาน ฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการจัดงานประกวดสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรมพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ

Please Rotate Screen

เว็บไซต์นี้ ใช้คุกกี้ (Cookies) เพื่อพัฒนาประสบการณ์ของผู้ใช้ให้ดียิ่งขึ้น

เรียนรู้เพิ่มเติมที่นี่